วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ซีอีโอไฟเซอร์เผย ชาติยากจนไม่สนซื้อวัคซีนโควิด แม้พยายามติดต่อแล้ว


      ซีอีโอไฟเซอร์เผย มีแต่ชาติร่ำรวยที่สั่งวัคซีนโควิดของไฟเซอร์ แต่ประเทศกลุ่มรายได้ต่ำถึงปานกลางกลับจนไม่สนใจ แม้พยายามติดต่อยื่นข้อเสนอในหลายช่องทาง


จากประเด็นที่มีรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงจุดยืนบนเวทีการค้าโลก (WTO) ในการสนับสนุนการยกเว้นสิทธิบัตรคุมครองวัคซีนโควิด-19 ต่อวัคซีนของบริษัทยารายใหญ่ๆ เพื่อให้กลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง สามารถเข้าถึงวัคซีนคุณภาพดีได้นั้น


อัลเบิร์ต บูร์ลา (Albert Bourla) ประธานกรรมการบริหารของไฟเซอร์ เปิดเผยให้การให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เรื่องนี้สร้างความไม่สบายใจต่อเขาอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทพยายามติดต่อไปยังกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางแล้ว แต่หลายชาติกลับไม่ให้ความสนใจวัคซีนของไฟเซอร์


"เราติดต่อไปยังทุกประเทศเพื่อขอให้เรา (ไฟเซอร์) เป็นส่วนหนึ่งในการจัดสรรวัคซีนแก่พวกเขา ทั้งที่ความเป็นจริงประเทศร่ำรวยจองโควตาวัคซีนมากที่สุด ส่วนตัวผมกังวลเรื่องนี้เช่นกัน ผมพยายามติดต่อผู้นำประเทศยากจนและรายได้ปานกลาง ทั้งทางจดหมาย โทรศัพท์ และส่งข้อความไปเตือนพวกเขาให้รีบจองวัคซีนเนื่องจากมีจำกัด ก่อนที่ประเทศร่ำรวยจะกว้านซื้อหมด แต่พวกเขากลับไม่สนใจ"


ซีอีโอบริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า บรรดากลุ่มประเทศรายได้ประชากรต่ำและปานกลาง ส่วนใหญ่ที่บริษัทติดต่อไป สนใจสั่งวัคซีนจากผู้ผลิตเจ้าอื่นมากกว่า หรือไม่ก็เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ หลายชาติมีเหตุผลแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีวัคซีนแบบ mRNA ของไฟเซอร์ยังไม่เป็นที่รับรองในประเทศนั้น ขณะที่ประเทศมีตัวเลือกวัคซีนที่ผลิตในท้องถิ่น ทั้งยังกล่าวอีกว่า มีบางประเทศไม่แม้แต่จะยอมอนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์ที่วิจัยร่วมกับไบโอเอ็นเทคของเยอรมนีด้วยซ้ำ


ท่าทีของบูร์ลา มีขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดน แสดงจุดยืนสนับสนุนการผ่อนปรนความเข้มงวดด้านสิทธิบัตรยาของวัคซีนโควิด เพื่อหวังให้บรรดาชาติยากจนและรายได้ปานกลางสามารถเข้าถึงวัคซีนคุณภาพดีอย่างเท่าเทียมไม่ต่างกับประเทศร่ำรวย ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทเจ้าของวัคซีนอย่าง ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา แสดงจุดยืนคัดค้าน โดยให้เห็นผลว่า สิทธิบัตรวัคซีนไม่ใช่อุปสรรคของต่อการเพิ่มกำลังการผลิต หรือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีนคุณภาพสูงของประเทศยากจน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นมากกว่า เช่นความต้องการวัคซีนในกลุ่มประเทศรายได้สูงที่เข้าถึงโควตาวัคซีนมากกว่าชาติยากจน และเตือนว่าการเคลื่อนไหวนี้อาจส่งผลต่อนวัตกรรมการผลิต และความลับทางการค้าที่กว่าหลายบริษัทจะคิดค้นพัฒนา และวิจัยขึ้นมาได้ล้วนใช้ทรัพยากรมหาศาล

 

ส่วนกรณีการยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนนั้น ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้อาจฟังดูดีแต่ก็ไมอาจรับประกันได้ว่าประเทศนั้นๆ จะสามารถผลิตวัคซีนคุณภาพสูงเองได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการทั้งเงินทุน การเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น และเทคโนโลยีชั้นสูง ประเทศยากจนบางชาติอาจไม่มีเครื่องมือและความพร้อมสำหรับผลิตวัคซีนปริมาณมากพอ


บูร์ลา ยังชี้แจงว่า ไฟเซอร์ใช้รูปแบบการกำหนดราคาวัคซีนของพวกเขาใน "หลากรูปแบบ" ประเทศรายได้ปานกลางจะได้วัคซีนในราคาครึ่งหนึ่งของที่ประเทศร่ำรวยจัดซื้อ ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำจะได้รับการเสนอในราคาพิเศษที่พวกเขามีกำลังซื้อได้ ซึ่งรูปแบบการกำหนดราคายาเป็นชั้นๆ ตามกลุ่มรายได้ประเทศลักษณะนี้นั้นไม่ต่างกับการขายยาชนิดอื่นๆ ดังเช่นยาต้านไวรัสเอชไอวีที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์


ทั้งนี้ ไฟเซอร์มีกำหนดส่งมอบวัคซีนราว 3 พันล้านโดสในปีนี้ ไปยัง 116 ประเทศทั่วโลก จำนวนนี้กว่า 450 ล้านโดสถูกส่งมอบแล้วซึ่งส่วนใหญ่ปลายทางวัคซีนอยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวย โดยราคาวัคซีนไฟเซอร์ในสหรัฐฯ ทั้ง 2 เข็ม อยู่ที่ 39 ดอลลาร์ (ราว 1,200 บาท)


ราคาวัคซีนที่ไฟเซอร์จำหน่ายแก่สหภาพยุโรป คิดราคาโดสละ 19 ดอลลาร์ หรือราว 590 บาท (ต้องฉีดสองโดส) บูร์ลาคาดว่า 40% ของปริมาณวัคซีนทั้งหมดหรือกว่า 1 พันล้านโดส จะถูกส่งมอบไปยังรายได้ปานกลางและต่ำในปีนี้ ภายใต้โครงการโคแวกซ์ และในรูปแบบที่ประเทศร่ำรวยแบ่งปันโควตาวัคซีนแก่ชาติยากจน


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก :  sanook ,Voice TV

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รถไฟชนกันในกรีซ ไฟลุกท่วมตู้โดยสาร 3 ตู้ ดับแล้ว 16 ศพ บาดเจ็บอีกเฉียดร้อย

       รถไฟโดยสารกับรถไฟขนส่งสินค้าชนกัน ที่กรีซ ไฟลุกท่วมตู้โดยสาร 3 ตู้ ดับแล้ว 16 ศพ บาดเจ็บอีกเฉียดร้อย